หนังสือ บันทึกของเด็กหญิง ของ อันเนอ_ฟรังค์

ดูบทความหลักที่: บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์

การตีพิมพ์

ภาพปกหนังสือ Het Achterhuis ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2490 ต่อมาแปลเป็นภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า The Diary of a Young Girl ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 หลังจากกาชาดสากลยืนยันการเสียชีวิตของอันเนอและมาร์กอทแล้ว มีป คีส จึงมอบสมุดบันทึกและเศษกระดาษบันทึกของอันเนอที่เธอเก็บรักษาไว้ด้วยความตั้งใจจะคืนให้แก่อันเนอ ให้แก่ออทโท ฟรังค์ ออทโทบอกในภายหลังว่า เขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าอันเนอได้จดบันทึกอย่างละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาระหว่างการซ่อนตัว ออทโทค่อย ๆ อ่านบันทึกด้วยความปวดร้าว ระลึกถึงแต่ละเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในบันทึก และนึกได้ว่าเขาเคยได้ยินเนื้อความบางส่วนที่ตลก ๆ ซึ่งบุตรสาวของเขาเคยอ่านให้ฟังมาก่อนแล้ว นอกจากนี้เขายังยอมรับว่า เพิ่งเคยได้ทราบความเป็นส่วนตัวบางอย่างของบุตรสาวเป็นครั้งแรก รวมถึงบางส่วนของบันทึกที่เธอไม่เคยพูดถึงกับใครมาก่อน ออทโทกล่าวว่า "สำหรับผม มันเป็นการเปิดดวงตาครั้งใหญ่... ผมไม่เคยล่วงรู้ความรู้สึกนึกคิดของลูกมาก่อน... เธอเก็บความรู้สึกทั้งหมดนี้ไว้กับตัวเอง"[2] อันเนอบันทึกความปรารถนาไว้หลายครั้งว่าอยากเป็นนักเขียน ดังนั้น ออทโทจึงเริ่มคิดว่า น่าจะนำบันทึกนี้ไปตีพิมพ์

ช่วงต้นของบันทึกของอันเนอ บรรยายความรู้สึกนึกคิดส่วนตัว และยังระบุหลายครั้งว่าเธอจะไม่ยอมให้ใครได้อ่านมันเลย เธอแอบเขียนบรรยายชีวิตของเธอ ของครอบครัว และเพื่อน ๆ ตลอดจนสถานะของพวกเขา ขณะเดียวกันเธอก็เริ่มมีความคาดหวังจะเขียนนิยายสำหรับพิมพ์เผยแพร่ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2487 อันเนอได้ยินประกาศทางวิทยุโดยแคร์ริต โบลเกอสไตน์ หนึ่งในคณะรัฐบาลพลัดถิ่นของเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่าหลังจากสงครามสิ้นสุด เขาจะจัดทำบันทึกสาธารณะขึ้นเพื่อรวบรวมสิ่งที่เกิดกับชาวดัตช์ระหว่างอยู่ภายใต้รัฐบาลเยอรมนี[4] เขาระบุถึงการเผยแพร่จดหมายและบันทึกต่าง ๆ ทำให้อันเนอตัดสินใจจะส่งงานเขียนของเธอไปร่วมด้วยเมื่อถึงเวลานั้น เธอเริ่มปรับปรุงแก้ไขงานเขียนของเธอ สลับ ย้ายเนื้อหา และเขียนขึ้นใหม่บางส่วน ด้วยมุมมองที่เหมาะสมสำหรับการตีพิมพ์ สมุดบันทึกเริ่มแรกของเธอสอดแทรกไว้ด้วยสมุดโน้ตเพิ่มเติมและกระดาษเป็นแผ่น ๆ อีกจำนวนมาก เธอคิดชื่อสมมุติขึ้นสำหรับสมาชิกในบ้านและบรรดาผู้ให้ความช่วยเหลือ โดยเปลี่ยนชื่อครอบครัวฟัน แป็ลส์เป็นแฮร์มันน์, เปโตรเนลลา และเปเตอร์ ฟัน ดาน และเปลี่ยนชื่อฟริทซ์ พเฟฟเฟอร์เป็นอัลแบร์ท ดึสเซิลล์ ในบันทึกฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่นี้ เธอเขียนถึง "คิตตี" ซึ่งเป็นตัวละครในนิยายเรื่อง โยปเตอร์เฮิล (Joop ter Heul) ของซิสซี ฟัน มากซ์เฟลต์ ซึ่งอันเนอชอบอ่านบ่อย ๆ ออทโท ฟรังค์ ใช้บันทึกฉบับดั้งเดิมของเธอซึ่งเรียกว่า "ฉบับเอ" รวมกับฉบับปรับปรุงแก้ไขที่เรียกว่า "ฉบับบี" มาเรียบเรียงใหม่เป็นฉบับตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก เขาตัดเนื้อหาบางส่วนออก โดยเฉพาะส่วนที่อันเนอวิจารณ์พ่อแม่ของเธอ (โดยมากเป็นแม่) และส่วนที่บรรยายถึงการเติบโตทางเพศของอันเนอเอง ออทโทเปลี่ยนส่วนที่ระบุชื่อสมาชิกในครอบครัวของเขาเองให้เป็นชื่อจริง แต่ยังคงใช้ชื่อสมมุติสำหรับบุคคลอื่น ๆ เอาไว้

ออทโท ฟรังค์ มอบสมุดบันทึกให้แก่อันนี โรไมน์-แฟร์สโคร์ (Annie Romein-Verschoor) นักประวัติศาสตร์ ซึ่งพยายามช่วยให้หนังสือได้ตีพิมพ์ แต่ไม่สำเร็จ เธอส่งหนังสือต่อไปให้ยัน โรไมน์ สามีของเธอ เขาได้เขียนบทความเกี่ยวกับหนังสือนี้ ชื่อหัวข้อว่า "Kinderstem" (หมายถึง "เสียงของเด็กหญิง") พิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Het Parool ฉบับวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2489 เขาเขียนว่าสมุดบันทึกนี้ "สะท้อนเสียงคร่ำครวญของเด็กน้อย แสดงให้เห็นความน่าขยะแขยงของลัทธิฟาสซิสต์ โหดร้ายยิ่งกว่าเหตุการณ์ทั้งมวลที่เนือร์นแบร์กรวมกันเสียอีก"[10] บทความของเขาทำให้บรรดาสำนักพิมพ์สนใจขึ้นมา แล้วสมุดบันทึกเล่มนั้นจึงได้ตีพิมพ์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ในชื่อ Het Achterhuis เมื่อปี พ.ศ. 2490[2] และได้พิมพ์ซ้ำในปี พ.ศ. 2493

หนังสือได้ตีพิมพ์ในเยอรมนีและฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2493 ส่วนในประเทศอังกฤษได้พิมพ์ในปี พ.ศ. 2495 หลังจากถูกสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ปฏิเสธหลายครั้ง ฉบับพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2495 ในชื่อว่า Anne Frank: The Diary of a Young Girl โดยได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างดี หนังสือประสบความสำเร็จในฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา แต่ที่อังกฤษไม่ค่อยเป็นที่ดึงดูดใจนักอ่านนัก ไม่มีการพิมพ์ซ้ำอีกหลังจากปี พ.ศ. 2496 หนังสือประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นที่สุดที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นที่ชื่นชอบอย่างสูงและจำหน่ายได้มากกว่า 100,000 เล่มในฉบับพิมพ์ครั้งแรก อันเนอ ฟรังค์ กลายเป็นผู้แทนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นอย่างยิ่งในญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว เธอเป็นตัวแทนถึงวัยเยาว์ที่ถูกทำลายลงในระหว่างสงคราม[2]

หนังสือได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวที โดยแฟรนซิส กู๊ดริช และแอลเบิร์ต แฮกเกตต์ แสดงรอบปฐมทัศน์ในนครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2498 ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สำหรับประเภทละครชีวิต ในปี 2502 ได้สร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Diary of Anne Frank ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งเงินและชื่อเสียง นักบันทึกชีวประวัติ เมลิสซา มึลเลอร์ เขียนถึงการดัดแปลงบทประพันธ์เป็นการแสดงเหล่านี้ว่า "แสดงให้เห็นความรักใคร่ ความอ่อนไหว และความเป็นสากลในเรื่องของอันเนอได้อย่างดีที่สุด"[1] ยิ่งเวลาผ่านไป ความนิยมในงานเขียนก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น ในโรงเรียนหลายแห่งโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกานำหนังสือนี้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรด้วย ทำให้อันเนอ ฟรังค์ เป็นที่รู้จักดีของนักอ่านรุ่นใหม่ ๆ

ปี พ.ศ. 2529 สถาบันเอกสารหลักฐานสงครามแห่งรัฐเนเธอร์แลนด์ (Netherlands State Institute for War Documentation) ได้จัดพิมพ์บันทึก "ฉบับชำระใหม่" (Critical Edition) แสดงเนื้อหาเปรียบเทียบฉบับต่าง ๆ ที่เคยปรากฏทั้งหมด ทั้งที่ผ่านการเรียบเรียงแล้วและที่ยังไม่ได้เรียบเรียง รวมถึงรายละเอียดการสืบสวนความเป็นจริงและความเป็นเจ้าของของบันทึกด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติมเกี่ยวกับครอบครัวของฟรังค์และเกี่ยวกับตัวบันทึก[11]

กอร์เนลิส เซยก์ อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิอันเนอ ฟรังค์ และประธานศูนย์สหรัฐอเมริกาของมูลนิธิการศึกษาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ประกาศในปี พ.ศ. 2542 ว่า เขาเป็นเจ้าของกระดาษบันทึก 5 แผ่น ซึ่งออทโท ฟรังค์ ดึงออกจากสมุดบันทึกก่อนจะนำไปตีพิมพ์ เซยก์อ้างว่าออทโท ฟรังค์ มอบกระดาษบันทึกเหล่านั้นให้เขาเอง ไม่นานก่อนที่ออทโทจะเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2523 เนื้อหาบันทึกส่วนที่หายไปเกี่ยวข้องกับการที่อันเนอ ฟรังค์ วิพากษ์วิจารณ์ชีวิตแต่งงานของพ่อแม่ของเธอ และยังพรรณนาความรู้สึกไม่พอใจต่อแม่ของเธอด้วย[12] ในเวลาต่อมาเรื่องนี้ก็กลายเป็นที่ถกเถียงกัน เพราะเซยก์เรียกร้องสิทธิ์ในการตีพิมพ์บันทึก 5 แผ่นนี้ และคิดจะนำไปขายเพื่อระดมทุนให้แก่ศูนย์สหรัฐอเมริกาของเขา สถาบันเอกสารหลักฐานสงครามแห่งเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมของต้นฉบับ เรียกร้องให้เขาคืนบันทึกทั้ง 5 แผ่นนี้ ในปี พ.ศ. 2543 กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์แห่งเนเธอร์แลนด์ ยินยอมบริจาคเงินจำนวน 300,000 เหรียญสหรัฐให้แก่มูลนิธิของเซยก์ แล้วบันทึกทั้ง 5 แผ่นจึงได้ส่งคืนในปี พ.ศ. 2544 หลังจากนั้นจึงได้นำบันทึกทั้ง 5 แผ่นผนวกรวมเข้าไปในหนังสือบันทึกฉบับพิมพ์ครั้งใหม่ ๆ ด้วย

การตอบรับ

บันทึกของอันเนอได้รับคำยกย่องชมเชยในฐานะวรรณกรรมที่ดี ไมเยอร์ เลวิน ให้ความเห็นเกี่ยวกับวิธีการเขียนของอันเนอว่า "รักษาความตึงเครียดของนวนิยายซึ่งเขียนโดยมีโครงสร้างอย่างดี"[13] เขาประทับใจกับผลงานของเธอมากจนต้องร่วมงานกับออทโท ฟรังค์ ในการดัดแปลงบทประพันธ์เป็นบทละคร หลังจากหนังสือได้รับการตีพิมพ์ไม่นานนัก[14] จอห์น เบร์รีแมน กวีชาวอเมริกันเขียนถึงหนังสือนี้ว่า มีถ้อยความพรรณนาที่โดดเด่นมาก มิใช่เพียงแค่เรื่องราวของเด็กสาว แต่เป็น "การก้าวย่างจากวัยเด็กสู่ผู้ใหญ่ ซึ่งเกิดจากความแม่นยำ ความเชื่อมั่น เป็นรูปแบบที่ชวนให้พรึงเพริดกับความสัตย์ซื่อของตัวอักษร"[15]

เอลินอร์ โรเซเวลต์ เขียนคำนำให้แก่ฉบับพิมพ์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เธอบรรยายว่าหนังสือนี้เป็น "หนึ่งในหนังสือซึ่งบรรยายถึงสงครามกับผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ที่มีชีวิตชีวาและเฉลียวฉลาดที่สุดเท่าที่ดิฉันเคยอ่าน" จอห์น เอฟ. เคนเนดี เอ่ยถึงอันเนอ ฟรังค์ ในสุนทรพจน์เมื่อปี พ.ศ. 2504 ว่า "ในบรรดาผู้คนมากมายตลอดห้วงประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงเกียรติภูมิแห่งความเป็นมนุษย์ ในช่วงเวลาอันแสนขมขื่นและการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีผู้ใดพรรณนาได้จับใจเท่าอันเนอ ฟรังค์"[6] ในปีเดียวกันนั้น นักเขียนชาวโซเวียต อิลยา เอเรนบูร์ก เขียนถึงอันเนอว่า "เสียงเสียงหนึ่งที่เอ่ยแทนผู้คนอีกหกล้าน - เสียงที่มิได้มาจากปราชญ์หรือกวี แต่มาจากเด็กหญิงธรรมดาตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง"[16]

อันเนอ ฟรังค์ เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นทั้งในฐานะที่เป็นนักเขียนและนักมนุษยนิยม มีการพูดถึงเธอทั่วไป โดยเฉพาะการเป็นสัญลักษณ์ของการถูกทำลายและเป็นตัวแทนของการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฮิลลารี คลินตัน อ่านบันทึกของอันเนอ ฟรังค์ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีมอบรางวัล Elie Wiesel Humanitarian Award เมื่อปี พ.ศ. 2537 ว่า "เธอได้ปลุกพวกเราขึ้นจากความเขลา ให้แลเห็นความตายอันโหดร้ายที่พรากความเยาว์ของเราไปเสีย" คลินตันเปรียบเทียบเรื่องของอันเนอกับเหตุการณ์ร่วมสมัยในเวลานั้น คือสงครามในซาราเยโว, โซมาเลีย และรวันดา[17] หลังจากที่เนลสัน แมนเดลา ได้รับรางวัลจากมูลนิธิอันเนอ ฟรังค์ เมื่อปี พ.ศ. 2537 เขาเอ่ยกับฝูงชนในเมืองโจฮันเนสเบิร์กว่า เขาอ่านบันทึกของอันเนอ ฟรังค์ ขณะที่อยู่ในคุก และ "รู้สึกกล้าหาญขึ้นอย่างมาก" เขาเปรียบเทียบการต่อสู้ของอันเนอกับพวกนาซี กับการต่อสู้ของเขาเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้ และว่าปรัชญาทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่ขนานกัน "เพราะความเชื่อพื้นฐานของมันผิดพลาด มันเคยผิดพลาดและยังคงผิดพลาดต่อไป ทว่าด้วยตัวอย่างจากอันเนอ ฟรังค์ การเหยียดผิวจักต้องพ่ายแพ้"[18]

ออทโท ฟรังค์ ใช้เวลาที่เหลือในชีวิตคอยดูแลอารักขาเกียรติยศชื่อเสียงของบุตรสาว เขากล่าวว่า "มันเป็นเรื่องที่แปลก สำหรับครอบครัวทั่วไป ผู้เป็นลูกจะเป็นฝ่ายได้รับเกียรติยศจากการกระทำของพ่อแม่ และคอยรักษาเกียรติยศนั้นให้สืบต่อไป แต่สำหรับผมมันกลับตรงกันข้าม" เขายังนึกถึงคำกล่าวของผู้จัดพิมพ์ที่อธิบายให้เขาฟังว่า เหตุใดบันทึกจึงเป็นที่นิยมอ่านโดยกว้างขวาง "เขาบอกว่าบันทึกได้รวบรวมด้านต่าง ๆ ของชีวิตเอาไว้ ผู้อ่านแต่ละคนสามารถค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่ตรงกับใจของตนเอง"[2] ต่อมาภายหลัง ซีมอน วีเซินทัล ได้อธิบายแนวคิดคล้ายกันนี้ เขากล่าวว่าบันทึกของอันเนอ ฟรังค์ ทำให้เกิดความตื่นตัวทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องราวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยโดดเด่นยิ่งกว่าเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เนือร์นแบร์กเสียอีก ทั้งนี้เนื่องจาก "เด็กคนนี้เป็นตัวตนที่เห็นได้เด่นชัดจากหมู่คนจำนวนมาก เป็นผลกระทบจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยตรง เธอมีครอบครัว เหมือนอย่างครอบครัวของผม เหมือนอย่างครอบครัวของคุณ คุณจึงเข้าใจความรู้สึกนี้ได้ง่าย"[19]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 นิตยสารไทมส์ตีพิมพ์หนังสือฉบับพิเศษ ใช้ชื่อว่า "Time 100: The Most Important People of the Century" (100 บุคคลสำคัญแห่งศตวรรษ) อันเนอ ฟรังค์ ได้รับเลือกเป็นผู้หนึ่งในหมวด "วีรบุรุษและสัญลักษณ์" รอเจอร์ โรเซนแบลตต์ บรรยายถึงความเป็นตำนานของเธอว่า "หนังสือเล่มนี้ส่งแรงบันดาลใจ ทำให้ทุกผู้คนรู้สึกเป็นเจ้าของอันเนอ ฟรังค์ เธอโดดเด่นขึ้นมาเหนือเหล่าผู้ถูกทำร้าย เหนือเหล่าชาวยิว เหนือความเยาว์วัย และอาจจะเหนือความดีงาม เธอกลายเป็นสัญลักษณ์บูชาในโลกยุคใหม่ ที่ซึ่งหัวใจแห่งศีลธรรมแต่ละดวงถูกรุมล้อมด้วยการทำลายล้างของเครื่องจักร เธอต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะมีชีวิต ที่จะถาม และที่จะหวังถึงอนาคตแห่งมนุษยชาติทั้งปวง" เขายังให้ความเห็นอีกว่า แม้ความกล้าหาญและการบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของเธอจะเป็นที่นิยมชมชอบ ทว่าแท้จริงแล้วปัจจัยที่ทำให้เธอน่าหลงใหล คือความสามารถในการวิเคราะห์ตัวเอง ประกอบกับทักษะการเขียนอันดียิ่ง เขาเขียนว่า "ความเป็นอมตะของเธอเนื่องมาจากวรรณศิลป์อย่างแท้จริง เธอเป็นนักเขียนที่มีคุณวิเศษตลอดทุกยุคสมัย คุณภาพแห่งผลงานของเธอเป็นผลโดยตรงจากหัวใจอันซื่อตรงอย่างที่สุด"[20]

การต่อต้านและผลกระทบทางกฎหมาย

หลังจากบันทึกเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 ก็มีการตีพิมพ์ข้อกล่าวหามากมายต่อต้านบันทึกนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงแรกเกิดขึ้นที่ประเทศสวีเดนและนอร์เวย์ คำกล่าวหาข้อหนึ่งกล่าวว่า ผู้เขียนบันทึกนี้คือ ไมเยอร์ เลวิน ส่วนอันเนอ ฟรังค์ ไม่มีตัวตนจริง[21]

ปี พ.ศ. 2501 ซีมอน วีเซินทัล ถูกท้าทายจากกลุ่มผู้ต่อต้านขณะแสดงละคร The Diary of Anne Frank ที่กรุงเวียนนา พวกเขากล่าวหาว่า อันเนอ ฟรังค์ ไม่มีตัวตนจริง และท้าให้วีเซินทัลพิสูจน์ตัวตนของเธอโดยหาตัวคนที่จับกุมเธอ วีเซินทัลจึงเริ่มออกติดตามหาคาร์ล ซิลเบอร์เบาเออร์ ตำรวจในคณะจับกุม และพบตัวเขาในปี พ.ศ. 2506 จากการสัมภาษณ์ ซิลเบอร์เบาเออร์ยอมรับบทบาทของเขา และระบุตัวอันเนอ ฟรังค์ ได้จากภาพถ่ายว่าเป็นหนึ่งในคนที่เขาจับกุม เขาให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันนั้น และเล่าถึงการค้นกระเป๋าใบหนึ่งที่เต็มไปด้วยกระดาษโดยการเทลงบนพื้น คำให้การของเขาสนับสนุนเรื่องราวลำดับเหตุการณ์ที่เล่าโดยพยานคนอื่นมาก่อนหน้านี้ เช่น ออทโท ฟรังค์[2]

การต่อต้านหนังสือนี้ยังมีประเด็นอื่นอีกคือ ผู้เขียนบันทึกไม่ใช่เด็ก แต่น่าจะถูกสร้างขึ้นเป็นวาทกรรมที่โอนเอียงเข้าข้างชาวยิว ออทโท ฟรังค์ ถูกกล่าวหาว่าหลอกลวง ปี พ.ศ. 2502 ที่เมืองลือเบค ฟรังค์ฟ้องร้องต่อ โลทาร์ ชตีเลา ครูสอนหนังสือคนหนึ่งที่เคยเป็นสมาชิกยุวชนฮิตเลอร์ ในการตีพิมพ์บทความในโรงเรียนโจมตีว่าหนังสือบันทึกนี้สร้างเรื่องขึ้นมาเอง คดียังครอบคลุมถึงไฮน์ริช บุดเดอแกร์ก ซึ่งเขียนจดหมายไปสนับสนุนชตีเลาและได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ลือเบคด้วย ศาลได้ตรวจสอบหนังสือบันทึก และพิสูจน์ได้ว่าลายมือในบันทึกตรงกันกับจดหมายซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าเขียนขึ้นโดยอันเนอ ฟรังค์ ปี พ.ศ. 2503 จึงมีการประกาศว่าบันทึกเป็นของจริง ชตีเลาต้องถอนบทความที่เคยเขียนไปทั้งหมด และออทโท ฟรังค์ ก็ไม่ได้ฟ้องร้องเขาต่อไปอีก[21]

ปี พ.ศ. 2519 ออทโท ฟรังค์ ฟ้องร้องไฮนซ์ รอท ชาวเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ผู้ซึ่งเขียนหนังสือโจมตีว่าบันทึกเป็นเรื่องหลอกลวงสร้างขึ้นเอง ศาลตัดสินว่า หากรอทยังเขียนเช่นนั้นอีก เขาจะต้องถูกปรับเป็นเงิน 500,000 มาร์คเยอรมันและจำคุก 6 เดือน รอทยื่นอุทธรณ์คัดค้าน แต่เขาเสียชีวิตเสียก่อนในปี พ.ศ. 2521 หนึ่งปีก่อนศาลจะตัดสินไม่รับอุทธรณ์[21]

ออทโท ฟรังค์ ยังยื่นฟ้องแอนสท์ เรอเมอร์ ในปี พ.ศ. 2519 เช่นกัน เขาเขียนหนังสือต่อต้านบันทึกใช้ชื่อว่า "The Diary of Anne Frank, Bestseller, A Lie" เมื่อชายอีกคนหนึ่งชื่อ เอดการ์ ไกสส์ นำหนังสือต่อต้านมาแจกจ่ายในห้องพิจารณาคดี เขาก็ถูกออทโทฟ้องร้องด้วย เรอเมอร์ถูกปรับเป็นเงิน 1,500 ดอยช์มาร์ค[21] ส่วนไกสส์ถูกพิพากษาจำคุก 6 เดือน เมื่อมีการอุทธรณ์จึงได้ลดโทษลง

หลังจากออทโท ฟรังค์ เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2523 เขาแสดงความจำนงที่จะมอบต้นฉบับสมุดบันทึกรวมถึงจดหมายและกระดาษบันทึกทั้งหมดให้แก่สถาบันเอกสารหลักฐานสงครามของเนเธอร์แลนด์[2] ซึ่งเป็นผู้จัดให้มีการตรวจสอบและศึกษาบันทึกในเวลาต่อมาโดยกระทรวงยุติธรรมแห่งเนเธอร์แลนด์ในปี พ.ศ. 2529 มีการตรวจสอบลายมือเปรียบเทียบกับตัวอย่างต่าง ๆ ที่ทราบตัวเจ้าของ และพบว่าถูกต้องตรงกัน ผลตรวจกระดาษ กาว และหมึก พบว่าเป็นสิ่งซึ่งใช้สอยอยู่แล้วในยุคที่เชื่อกันว่าได้เขียนบันทึกขึ้น ผลสรุปจากการตรวจสอบยืนยันว่า บันทึกนี้เป็นของจริง และได้จัดพิมพ์สมุดบันทึกนี้ขึ้นเป็นการพิเศษ รู้จักกันต่อมาว่าเป็น "ฉบับชำระใหม่" ศาลแขวงฮัมบวร์คก็ได้ประกาศยืนยันความเป็นตัวจริงของบันทึกนี้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2533[11]

ปี พ.ศ. 2534 รอแบร์ โฟรีซง และซีคฟรีด แฟร์เบเกอ ผู้ปฏิเสธไม่เชื่อเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้เขียนหนังสือเล็ก ๆ ขึ้นเล่มหนึ่งชื่อ The Diary of Anne Frank: A Critical Approach โดยกล่าวหาว่า ออทโท ฟรังค์ เป็นผู้เขียนบันทึกนั้นขึ้นเอง เนื่องจากรายละเอียดหลายอย่างในบันทึกขัดแย้งกันเอง การซ่อนตัวใน อัคเตอร์เฮอวส์ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และว่าวิธีการเขียนร้อยแก้วกับลายมือของอันเนอ ฟรังค์ ไม่น่าที่เด็กวัยรุ่นจะทำได้[22]

เดือนธันวาคม พ.ศ. 2536 อันเนอร์ ฟรังค์ เฮาส์ ที่อัมสเตอร์ดัม ร่วมกับมูลนิธิอันเนอ ฟรังค์ ในเมืองบาเซิล ได้ร่วมกันผลักดันให้มีกฎหมายห้ามการเผยแพร่หนังสือ The Diary of Anne Frank: A Critical Approach ในประเทศเนเธอร์แลนด์ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ศาลประจำกรุงอัมสเตอร์ดัมได้มีประกาศห้ามการต่อต้านความเป็นตัวจริงและความเป็นเจ้าของของหนังสือบันทึกนี้อีก รวมถึงห้ามการเผยแพร่สิ่งพิมพ์ใด ๆ ที่ทำให้เกิดผลดังกล่าว ผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกปรับเป็นเงิน 25,000 กิลเดอร์ต่อหนึ่งกรณี[23]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อันเนอ_ฟรังค์ http://www.annefrank.ch/ http://www.annefrank.ch/index.php?page=750 http://www.annefrank.com/ http://www.annefrank.com/1_life.htm http://www.findarticles.com/p/articles/mi_m0411/is... http://www.myjewishlearning.com/history_community/... http://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=9F0... http://select.nytimes.com/mem/archive/pdf?res=F606... http://www.reuters.com/article/latestCrisis/idUSL2... http://www.reuters.com/article/topNews/idUSL233837...